รู้จักคำขวัญและสัญลักษณ์ของ “เอเชียนเกมส์ 2022” พร้อมเปิดเผยที่มาที่ไปของแนวคิดอันสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของเจ้าภาพที่แตกต่างกันไปในทุก ๆ 4 ปีไม่ซ้ำกัน
ภาพจำของเอเชียนเกมส์ในแต่ละครั้ง จะมีภาพจำของ “คำขวัญ” และ “สัญลักษณ์” ที่แตกต่างกันออกไปตามการแข่งขันที่จะสื่อถึงเอกลักษณ์ของเจ้าภาพที่หมุนเวียนไปทุก ๆ 4 ปีไม่ซ้ำกัน
โดยในครั้งที่ 19 นี้ เมืองหางโจว ประเทศจีน รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ ซึ่งนับเป็นนครแห่งที่ 3 ของจีนที่เป็นเจ้าภาพ จากก่อนหน้านี้คือ เมืองปักกิ่ง เมื่อปี 1990 และเมืองกวางโจว ปี 2010
ดังนั้นแล้วมหกรรมการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ จะมีคำขวัญและสัญลักษณ์สะท้อนถึงประเทศจีนอย่างไรบ้างนั้น ทีมข่าวนิวมีเดีย พีพีทีวี ขออาสาพาไปรู้จักกันดังนี้
คำขวัญเอเชียนเกมส์ 2022
คำขวัญอย่างเป็นทางการของเอเชียนเกมส์ 2022 คือ
ใจถึงใจ @อนาคต หรือ Heart to Heart, @ Future
โดยได้รับการประกาศเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดเป็น 1,000 วันก่อนพิธีเปิด สำหรับคำขวัญนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมโยงที่เอเชียนเกมส์สร้างขึ้นระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชีย
สัญลักษณ์หางโจวเกมส์
ช่อดอกไม้พิธีมอบเหรียญรางวัล
ช่อดอกไม้ในพิธีมอบเหรียญรางวัล มีชื่อว่า "ผลแห่งชัยชนะ" (Fruits of Triumph) เป็นตัวแทนบทพิสูจน์น้ำใจนักกีฬาและจิตวิญญาณอันแข็งแกร่งของนักกีฬาเอเชียนเกมส์ และเป็นเครื่องหมายอวยพรให้พวกเขาเดินทางสู่หนทางแห่งความสำเร็จและเกียรติยศ
ช่อดอกไม้นี้ผสมผสานองค์ประกอบสำคัญในวัฒนธรรมจีน ได้แก่ รวงข้าวและฝักบัว ซึ่งมีนัยถึงการกอบโกยผลสำเร็จและการบรรลุเป้าหมาย ด้านในประกอบด้วยดอกกุหลาบสายพันธุ์จีนเรียกว่า "ใจพิสุทธิ์" (Heart of Innocence) ดอกกล้วยไม้ผีเสื้อ (Butterfly orchid) ซึ่งสะท้อนเฉดสี "สายรุ้งสีม่วง" จากชุดสีประจำการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ รวมถึงพืชพรรณโดดเด่นของหางโจว ได้แก่ กิ่งของต้นชาหลงจิ่ง และกิ่งของดอกกุ้ยฮวา หรือหอมหมื่นลี้
นวัตกรรมที่เป็นจุดเด่นสำหรับการแข่งขันฯ ได้แก่ ภาชนะใส่ดอกไม้ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากฮวากู ภาชนะปากกว้างขนาดยาวจากเตาหลวง กวนเหยา สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ปี 1127-1279) และงานแกะสลักตงหยาง ที่ถูกยกย่องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งชาติ ซึ่งการออกแบบน้ำกระเพื่อมบริเวณด้านบนสะท้อนความงามของบทกวีเกี่ยวกับเนินเขาและแม่น้ำคดเคี้ยวของเจ้อเจียง
เหรียญรางวัล
เหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ เปิดตัวในชื่อ “ซานสุ่ย” ได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบจาก “ยี่ว์ฉง” หยกโบราณที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้ในวัฒนธรรมเหลียงจู่
ด้านหน้ามีสัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน เนินเขาที่ปกคลุมด้วยหมอก และเมืองเป็นทะเลสาบที่กระเพื่อม ประกอบกับภูเขาลูกคลื่นที่อยู่ไกลออกไป ในขณะที่ด้านหลังมีตราสัญลักษณ์ดวงอาทิตย์แห่งเอเชียนเกมส์ และชื่อของประเภทการแข่งขันเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ
ถาดมอบเหรียญรางวัล
การออกแบบถาดเหรียญรางวัลได้แรงบันดาลใจจากระลอกคลื่นของทะเลสาบตะวันตกยามสัมผัสสายลมพัดแผ่วเบา สื่อให้เห็นถึงความงดงามของทะเลสาบและเนินเขา โดยผลิตขึ้นจากอะลูมิเนียมผ่านกระบวนการขึ้นรูปแบบชิ้นเดียว ตัวถาดเคลือบด้วยน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แท่นรับเหรียญรางวัล
แท่นยืนรับรางวัลนี้ไล่ระดับสี "สายรุ้งสีม่วง" บริเวณด้านนอก ส่องประกายความมีชีวิตชีวาและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ พื้นผิวของแท่นแต่งแต้มด้วย "สีหมึกขาว" (Ink White) สื่อถึงจิตวิญญาณแห่งความเป็นเอกภาพ ความสามัคคี และความสำเร็จร่วมกันในกลุ่มประเทศและภูมิภาคเอเชีย
มาสคอต
การแข่งขันครั้งนี้ มีมาสคอตถึง 3 ด้วยด้วยกัน นับเป็นครั้งที่ 2 ที่มีมาสคอต 3 ตัว ต่อจากเอเชียนเกมส์ปี 2014 ที่เกาหลีใต้
มาสคอตทั้ง 3 ได้แก่ฉงฉง, เหลียนเหลียน, และเฉินเฉิน ถูกออกแบบโดย จาง เหวิน และหยาง หงอี้ 2 อาจารย์จากสถาบันศิลปะแห่งประเทศจีน
ทั้ง 3 มาสคอตเป็นหุ่นยนต์แฝดที่มาจากอนาคต นำเสนอความเป็นผู้นำด้านประเพณี นวัตกรรม และภูมิปัญญา ได้รับแรงบันดาลใจจากสถานที่ที่ยูเนสโกประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกในเมืองหางโจว 3 แห่ง
โดย “ฉงฉง” มาสคอตสีเหลือง เป็นตัวแทนของเมืองโบราณเหลี่ยงจู่ ชื่อ “ฉง” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากจี้หยกโบราณอายุกว่า 5,000 ปี ที่ขุดพบในเมืองดังกล่าว และสีเหลืองยังหมายถึงการเก็บเกี่ยวและความอุดมสมบูรณ์ด้วย
ต่อมาคือ “เหลียนเหลียน” มาสคอตสีเขียว เป็นตัวแทนของทะเลสาบตะวันตก หรือทะเลสาบซีหู เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขา 3 ลูก และมีสิ่งก่อสร้างทางวัฒนธรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์, เก๋งจีน, วัด, สวนแบบจีน, สวนสไตล์ญี่ปุ่น,และศาลเจ้าจนถูกขนานนามว่าเป็นสวรรค์บนดิน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2011
และ “เฉินเฉิน” มาสคอตสีฟ้า ที่เป็นตัวแทนของคลอง Grand Canal ซึ่งเป็นคลองที่ขุดขึ้นสมัยราชวงศ์ซุย เชื่อมต่อกับแม่น้ำแยงซี เริ่มขุดจากกรุงปักกิ่งมาสิ้นสุดที่เมืองหางโจว โดยชื่อ “เฉิน” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสะพานกงเฉิน ที่พาดผ่านคลอง Grand Canal นั่นเอง นอกจากนี้ สีฟ้าของเฉินเฉินยังสื่อถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ล้ำสมัย
คบเพลิง
"เปลวเพลิงนิรันดร์” (Eternal Flame) คือชื่อของคบเพลิงประจำการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2022 การออกแบบคบเพลิงมีชื่อว่า "Torch Fire" แนวคิดการออกแบบได้มาจากวัฒนธรรมเหลียงจู่ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อารยธรรมจีน 5,000 ปี ด้วยบรรยากาศที่เคร่งขรึมและรูปร่างที่ยาวไกล ได้รับการถ่ายทอดผ่านผู้ถือคบเพลิงเพื่อแสดงให้โลกเห็นถึงความคิดสร้างสรรค์อันเป็นเอกลักษณ์ของการออกแบบของประเทศจีน และพลังอันแข็งแกร่งของการผลิตในประเทศจีน
เพลงประกอบ
เพลงประกอบการแข่งขันอย่างเป็นทางการ “With you and Me” ได้เผยแพร่ออกมาเป็นมิวสิกวิดีโอให้ทุกคนได้เห็นกันแล้วเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ร้องโดย แองเจลา ชาง, แจ็กสัน หวัง, ซันนี และ ถาน เจี้ยนซือ
และที่น่าดีใจคือ อีกเพลงที่ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดระดับโลก เพื่อแต่งเพลงธีมประกอบการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ คือผลงานของคนไทย ผลิตโดยนาดาวมิวสิค มีชื่อเพลงต้นฉบับว่า “เพื่อนกัน” หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Let’s Celebrate” ร้องโดย ไอซ์ พาริส, บิวกิ้น พุฒิพงศ์, พีพี กฤษฎ์ และ นาน่า ศวรรยา
ขอบคุณข้อมูลจาก :
ขอบคุณภาพจาก : ซินหัว และ